กลไกลการขับเคลื่อนฯ
กลไกลการขับเคลื่อนฯ
กลไกการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัด
เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจตาก เพื่อกำหนดแนวทางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ถือปฏิบัติ รวมถึงกำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ในด้านต่างๆ ตามกลุ่มภารกิจ 7 กลุ่ม ได้แก่
- ด้านขอบเขตพื้นที่และการจัดหาที่ดิน
- ด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง
- ด้านสิทธิประโยชน์
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ไฟฟ้า ประปา) และด่านศุลกากร
- ด้านการส่งเสริมอาชีพ การฝึกทักษะ และการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่
- ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี และการสาธารณสุข
- ด้านการบริหารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) และศูนย์ประสานงานบ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) ระหว่างแม่สอดและเมียวดี
ภาพที่ 1 คณะทำงานดำเนินการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ในด้านต่างๆ ตามกลุ่มภารกิจ 7 กลุ่ม (7 Cluster)
ทั้งนี้ เพื่อให้การติดตามผลการดำเนินงานและปัญหา อุปสรรค ในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากของคณะทำงานแต่ละกลุ่มภารกิจ (Cluster) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จังหวัดจึงกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากเป็นประจำทุกสัปดาห์ และให้แต่ละกลุ่มภารกิจจัดการประชุมเพื่อสรุปประเด็นก่อนนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการฯ ประจำสัปดาห์
การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคง
- มีการขอขยายเวลา เปิด – ปิดด่านพรมแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวร (สะพานมิตรภาพไทย – พม่า) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานชาวเมียนมาร์ที่เข้ามาทำงานแบบเช้าไป เย็นกลับ ซึ่งฝ่ายเมียนมาร์เห็นชอบในการขยายเวลาเปิดปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เป็นเวลา ๐๕.๐๐ – ๒๐.๐๐ ตามเวลาท้องถิ่นเมียนมาร์ (๐๕.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ตามเวลาไทย) โดยข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว และกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๘
- มีการขยายพื้นที่การเดินสำหรับผู้ถือบัตรผ่านแดน (Border Pass) ชาวเมียนมาร์ให้เดินทางเข้าพื้นที่ชั้นในได้เพิ่มเติม โดยให้มีการขยายพื้นที่การเดินทางได้ถึงพื้นที่จังหวัดตาก ทั้งนี้ ให้จังหวัดประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายพื้นที่การเดินทางและนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาการเปิดจุดผ่านแดนพิจารณาต่อไป
- การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก เพื่อร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก และประเมินสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
การจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service: OSS) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดตาก
มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มอบหมายให้จังหวัด ใน ๕ พื้นที่ชายแดนเป้าหมายร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน
เพื่อเป็นการเตรียมการรองรับการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวข้างต้น จังหวัดตากจึงประกาศจัดตั้ง “สำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก” ภายในอาคารเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ชั้น ๔ ถนนสายเอเชีย (แม่สอด-ริมเมย) ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยทำพิธีเปิดสำนักงานฯ เมื่อวันอังคารที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๘
ภายในสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ประกอบด้วย
๑) ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (One Stop Service: OSS) เพื่อเป็นศูนย์ให้บริการด้านการค้า การลงทุน การให้ข้อมูลและประสานการดำเนินงานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
๒) ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุขและความมั่นคง เพื่อให้บริการด้านต่างๆเกี่ยวกับแรงงาน การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว การอบรมฝีมือแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก
๓) ศูนย์สถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (Sister City) ระหว่างแม่สอดและเมียวดี เพื่อใช้เป็นสำนักงานในการประสานความร่วมมือ และสร้างความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างแม่สอดและเมียวดี
โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจังหวัดตาก เทศบาลนครแม่สอด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติงานประจำ ณ สำนักงานฯ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิธีการและข้อมูลข่าวสารต่างๆ แก่นักลงทุนและผู้ที่สนใจ
รูปที่ ๓ อาคารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อ.แม่สอด จ.ตาก
การบริหารจัดการผลิตผลทางการเกษตรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษโดยสหกรณ์
จากผลการประชุม กนพ. ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๗ ได้กำหนดพื้นที่นำร่องและพืชเกษตรเป้าหมาย ได้แก่ ๑) จ.ตาก สินค้าเกษตรเป้าหมายคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ๒) จ.สระแก้ว สินค้าเกษตรเป้าหมายคือ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง
จังหวัดตาก โดยเสนอขอให้มีการขยายเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับชายแดนจังหวัดตาก ระหว่าง ๑ มกราคม – ๓๑ สิงหาคน ๒๕๕๘ โดยเปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าเกษตรบริเวณชายแดน จ.ตาก เพิ่มเติมไม่เกิน ๒๒ จุด ปรับปรุงระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติการนำเข้าสินค้าเกษตรให้สะดวกรวดเร็ว และแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดให้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดแนวแนวทางการปฏิบัติ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดตากเป็นประธาน รวมถึงมีการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า-ส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมการค้าระหว่างประเทศแล้ว จำนวน ๔ สหกรณ์ มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยอบรมให้ความรู้กับสหกรณ์ในเรื่องการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร และสหกรณ์ในพื้นที่ได้ทำเรื่องแจ้งความประสงค์ขอนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๘ จำนวน ๕,๐๐๐ ต้น โดยนำเข้าผ่านองค์การคลังสินค้า
การวางผังเมืองรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก
รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ AEC โดยพัฒนาเมืองชายแดนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ : Special Economic Zones) ในการนำประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเสริมความมั่นคงของประเทศ
สำหรับจังหวัดตาก กรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดแนวคิดการวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดตาก โดยวาง Positioning คือ “เมืองคู่แฝดเขตการค้าเมียวดี สหภาพเมียนมาร์ มีระยะทางไปยังท่าเรือมะละแหม่ง และเมืองย่างกุ้งที่ใกล้ที่สุด” โดยมีแนวทางการพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ศูนย์ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คลังสินค้า ที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานและประกอบการ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน
โดยดำเนินการเร่งรัดวางและปรับปรุงผังเมืองรวมจังหวัด ผังพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ผังเมืองรวมเมือง และผังเมืองรวมชุมชนชายแดน เพื่อจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินและระบบคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนชายแดนวางผังโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดิน วางระบบสาธารณูปโภค – สาธารณูปการ และออกแบบรายละเอียดโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้เป็นระเบียบ สวยงาม และปลอดภัย